ประวัติและความเป็นมาของศูนย์ไอโซโทปรังสี

 

                ก่อนที่จะมาเป็นศูนย์ไอโซโทปรังสี  สังกัดสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน)  เดิมเคยศูนย์ไอโซโทปรังสีมีฐานะเป็นกองผลิตไอโซโทป  ได้ถือกำเนิดพร้อมกับการสถาปนาสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ  และเริ่มทดลองผลิตสารไอโซโทปรังสีโดยใช้เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 ในตอนแรกทดลองผลิตไออีน – 131  ส่งให้แพทย์ทดลองใช้นอกจากนี้ก็ยังผลิตสารไอโซโทปที่มีครึ่งชีวิตสั้นอื่น ๆ เช่น ทอง 198, โซเดียม – 24 ,เทคนีเซียม – 99 เอ็ม เป็นต้น ตลอดเวลา 40 ปี  ที่ผ่านมากองผลิตไอโซโทปได้มีการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพสารไอโซโทปและวิจัยสารไอโซโทปตัวใหม่ ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ขอรับบริการ  โดยมีเป้าหมายหลักดังนี้

 

-          เพื่อเป็นบริการของภาครัฐให้แก่ประชาชน  โดยเฉพาะผู้ป่วยให้ได้รับการบำบัดรักษาและ/หรือการตรวจวินิจฉัยด้วยสารไอโซโทปอย่างทั่วถึง

-          ช่วยลดการขาดดุลการค้าและการสูญเสียเงินตราให้กับต่างประเทศเนื่องจากสารไอโซโทปที่ผลิตขึ้นเองในประเทศจะมีราคาถูกกว่าที่สั่งซื้อจากต่างประเทศ

-          ช่วยเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์งานผลิตไอโซโทปให้แก่นักวิทยาศาสตร์ในประเทศ

-          สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยให้ได้ใช้สารไอโซโทปได้ทันท่วงที  เนื่องจากสารไอโซโทปมีค่าครึ่งชีวิตสั้น  การผลิตได้เองสามารถยืดหยุ่นปริมาณความต้องการได้

 

นอกจากการบริการจะมุ่งเน้นทางการแพทย์เป็นส่วนใหญ่แล้ว  ยังมีการผลิตสารไอโซโทปที่ใช้ในกิจการอื่น ๆ อีกบ้าง เช่น ทางด้านการเกษตร  การศึกษาวิจัย  และการอุตสาหกรรม เป็นต้น  สารไอโซโทปที่ผลิตนั้นจะต้องผ่านการควบคุมคุณภาพโดยอ้างอิงตามมาตรฐานสากลของทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกา (European  Pharmacopoeia  และ United  State Pharmacopoeia)

 

                ปัจจุบันหากจะจำแนกสารไอโซโทปที่กองผลิตไอโซโทปได้ให้บริการแล้วสามารถจำแนกได้หลายกลุ่มแต่ในบทความนี้จะขอเน้นเฉพาะกลุ่มสารไอโซโทปตั้งแต่ต้นหรือที่เรียกว่า Primary Isotope  เพราะเป็นกลุ่มที่ต้องพึ่งพาอาศัยเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูในการผลิตสารไอโซโทปโดยตรง  ซึ่งมีไอโซโทปตัวหลักอยู่  2  ตัว

1.        ไอโอดีน-131

กองผลิตไอโซโทปเริ่มผลิตไอโอดีน -131 ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2509  ปริมาณที่ผลิตได้ในปีนั้นคือ  601มิลลิคูรี และก่อนหน้าปี พ.ศ. 2509  แพทย์ก็สั่งไอโอดีน-131  จากต่างประเทศมาใช้รักษาผู้ป่วยอยู่แล้วประมาณ 12,000  มิลลิคูรีต่อปีจนกระทั่งปี พ.ศ. 2517  ก็เพิ่มปริมาณการผลิตเป็น 14,136  มิลลิคูรี  ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ของแพทย์ (ซึ่งมีการเพิ่มปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 25 คูรีต่อปี) และในเดือน มิถุนายน พ.ศ. 2518   เครื่องปฏิกรณ์หยุดเดินเครื่องเพื่อการปรับกรุงใหม่  สำนักงานฯได้จัดทำโครงการปรับปรุงการผลิตไอโอดีน-131  แต่จากสถิติพบว่าแพทย์มีความต้องการใช้สารไอโซโทป 2  ชนิด  คือ  ไอโอดีน -131  และเทคนีเซียม - 99 เอ็ม

                   ดังนั้นเพื่อเป็นการตอบสนองต่อความต้องการของแพทย์จึงได้มีการปรับปรุงแผนการผลิตไอโซโทปรังสีที่มีขีดความสามารถทั้งในการผลิตไออีน-131  และเทคนีเซียม – 99 เอ็ม  ไปพร้อมกัน  เพื่อเป้าหมายโดยการขยายงบประมาณที่ขอสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติจึงไม่เพียงพอ สำนักงานฯ  จึงได้ขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมไปยังทบวงการพลังปรมาณูระหว่างประเทศอีกทางหนึ่งและได้รับการสนับสนุนภายใต้โครงการระยะยาว  5  ปี  ชื่อ “Radioisotope Production  Facility”  สิ่งต่อไปที่ต้องคำนึงถึง คือ  การสร้างอาคารผลิตไอโซโทปหลังใหม่ที่มีโครงสร้างที่แข็งแรงพอที่จะรองรับน้ำหนักของตู้ผลิตและอุปกรณ์การผลิตที่ทำด้วยตะกั่วและมีเนื้อที่เพียงพอที่จะรับน้ำหนักการผลิตไอโซโทปรังสีทั้ง  2  ชนิด   ด้วยเหตุนี้กองผลิตไอโซโทป 3  (อาคาร 19)  จึงถือกำเนิดขึ้น  (พื้นที่ของอาคารที่จะวางตู้ผลิตต้องสามารถรับน้ำหนักกดได้  30  ตัน ต่อตารางเมตร  พื้นที่ของอาคารทั่วไปสามารถรับหน้ำหนักกดได้  500  กิโลกรัมต่อตารางเมตร) 

 

ในระหว่างปี  2525-2529  มีการดำเนินการซื้อตู้ผลิต  และติดตั้งตู้ผลิต  บริษัทที่ประมูลได้ คือ Isocommerce  จากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมันโดยมีเป้าหมายเพิ่มยอดผลิตไอโอดีน – 131  ให้ได้สัปดาห์ละ  1  คูรี  จนในปัจจุบันนี้กองผลิตไอโซโทปสามารถผลิตไอโอดีน – 131 ได้ประมาณ 5-6  คูรี  ต่อสัปดาห์  ซึ่งเป็นปริมาณสูงสุดที่กองผลิตไอโซโทปจะผลิตได้  โดยก่อนหน้านี้สำนักงานฯ  สามารถให้บริการไอโอดีน – 131  ได้โดยไม่ต้องพึ่งพานำเข้าจากต่างประเทศแต่เนื่องจากปริมาณผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นทุกปีจำนวนและความสามารถในการให้บริการของโรงพยาบาลแต่ละแห่งก็เพิ่มขึ้นด้วยในระยะ  3-4 ปี  ที่ผ่านยอดการผลิตไอโอดีน – 131  จึงเริ่มที่จะไม่เพียงพอต่อการให้บริการเสียแล้ว  ปัจจุบันโรงพยาบาลบางแห่งจึงแก้ปัญหาโดยการสั่งไอโอดีน – 131  เพิ่มจากบริษัทเอกชนซึ่งนำเข้าไอดีน – 131 จากต่างประเทศมาเสริมในส่วนที่ยังขาดอยู่  ซึ่งแน่นอนว่าราคาจำหน่ายค่อนข้างจะแพงมากเมื่อเทียบกับราคาจำหน่ายของสำนักงานฯ   และในปัจจุบันปี 2551 เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้ไอโอดีน-131 มีมากถึงสัปดาห์ละ 11 คูรี  ประกอบกับเป็นช่วงเวลาที่ต้องดำเนินการจัดซื้อแท่งเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูเพิ่มเติม  ทำให้กำลังเดินเครื่องของเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูมีไม่เพียงพอต่อการผลิตไอโอดีน-131  ขณะนี้จึงมีการนำเข้า ไอโอดีน-131  จากต่างประเทศ(จากบริษัท Polatom,ประเทศโปแลนด์) เข้ามาทั้งหมด  จนกว่าจะได้มีการติดตั้งแท่งเชื้อเพลิงเพิ่มเติมจึงจะได้พิจารณาที่จะดำเนินการผลิตอีกครั้งหนึ่ง

 

2. เทคนีเซียม – 99 เอ็ม

เป็นไอโซโทปหลักอีกหนึ่งที่กองผลิตไอโซโทปได้เคยผลิตให้บริการมีความสำคัญสำหรับการวินิจฉัยโรค  โดยเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีการถ่ายภาพด้วยรังสี  (Imaging technology)  โดยลำพังตัวของมันเองก็สามารถนำมาใช้ตรวจอวัยวะบางอย่างได้ เช่น  สมอง  ต่อมน้ำลาย  หรืออาจจะใช้ผสมกับการสารประกอบชนิดอื่น  ซึ่งเราเรียกว่า  สารประกอบสำเร็จรูปเทคนีเซียม – 99 เอ็ม  (Ready to use kit หรือ cold kit)  นำมาใช้ตรวจอวัยวะต่าง ๆ ได้ เช่น นำเทคนิคนีเซียม – 99 เอ็ม  มาติดฉลากกับ Methylene  diphosphonate (MDP) ได้ 99 m Tc-MDP  ซึ่งนำมาใช้ในการตรวจกระดูก เป็นต้น

 

                แพทย์สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ได้นำ  Tc-99m  เข้ามาใช้งานตรวจวินิจฉัยนานแล้วเนื่องจาก Tc-99m  มีคุณสมบัติทางนิวเคลียร์ที่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ในทางการแพทย์มีครึ่งชีวิตสั้นเพียง  6  ชั่วโมง  Tc-99m  สามารถผลิตได้  2  วิธี  วิธีแรก คือ  สกัดด้วย MEK (Methyl Ethyl Ketone) ได้ Instant Tc-99m อีกวิธีคือใช้ elute Tc-99m  จาก 99 Mo – 99 m Tc Generator

 

          วิธีที่กองผลิตไอโซโทปใช้สำหรับการผลิต  Tc-99m คื่อการสกัดด้วย  MEK ซึ่งขั้นตอนการผลิตค่อนข้างจะแปลกกว่าการผลิตไอโซโทปอื่นๆ  เพราะเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอันได้แก่  เจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิต  2  คน ฝ่ายควบคุมคุณภาพ  1  คน  เจ้าหน้าที่กองสุขภาพ  1  คน  เจ้าหน้าที่หีบห่อและประจำยานพาหนะอีก  6  คน  จะต้องเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่  03.00  น. เพื่อที่จะได้ทันส่งให้แพทย์ใช้ก่อน  08.00 น.  นอกจากนี้ยังจะต้องให้เจ้าหน้าที่ที่จะนำสารตั้งต้นออกจากเครื่องปฏิกรณ์ฯ  และเจ้าหน้าที่เดินเครื่องปฏิกรณ์ฯ  ปฏิบัตินอกเวลาราชการด้วย  จะเห็นว่าเจ้าหน้าที่หีบห่อและพนักงานขับรถมีจำนวนถึง  6  คน  เนื่องจากความจำเป็นในการจัดส่งจึงต้องแบ่งสายการส่งออกไปถึง  3  สาย

 

                เมื่อสำนักงานฯ  ได้ของบประมาณจากสำนักงบประมาณและขอความช่วยเหลือจาก  ทบวงการฯ หรือ IAEA  เพื่อที่จะปรับปรุงแผนการผลิตไอโซโทปรังสีภายใต้โครงการ “Radioisotope Production Facility” นั้น ได้จัดซื้อและติดตั้งตู้ผลิต Tc-99m  จากบริษัท Atomic Energy of  Canada Limited   ประเทศคานาดา Tc-99m ก็เริ่มต้นผลิตอีกครั้งในปี 2529 เป้าหมายการผลิตไว้ที่ 2 คูรีต่อสัปดาห์

                สำนักงานฯ  สามารถบริการ Tc-99 m  ให้แก่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ  ได้เท่านั้น  เนื่องจากค่าครึ่งชีวิตที่ค่อนข้างสั้น (6 ชั่วโมง) แพทย์ต่างจังหวัดก็ต้องใช้ Tc-99m 99 Mo-99m Tc Generator  เป็นทางเลือกทดแทน

                กองผลิตไอโซโทปได้ดำเนินการผลิต Tc-99m  เรื่อยมาจนกระทั่งในปี 2540   ก็เกิดปัญหาว่าไม่สามารถให้บริการไอโซโทปได้เพียงพอทั้ง  ไอโอดีน-131 และ Tc-99m  เนื่องจากความจำกัดของท่ออาบรังสีของสารตั้งต้นและขีดจำกัดในการเดินเครื่องปฏิกรณ์ฯเป็นสำคัญ

 

ดังนั้นมีการจัดตั้งคณะทำงานจัดทำแผนอัตรากำลัง  3  ปี  เกี่ยวกับการปรับลดบาทหรือเลิกดำเนินการ  ปัญหานี้จึงถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาและได้ผลสรุปให้ยุติบทบาทการให้บริการ Tc-99m  ตั้งแต่วันที่ 28  เมษายน 2540  เป็นต้นมา  โดยมีเหตุผลประกอบการงดผลิต  Tc-99m  ดังนี้

1.     ลักษณะของงานจำเป็นต้องใช้บุคลากรจำนวนมาก คือ นอกจากในแต่ละวันจะต้องใช้กำลังคนถึง  10  คน  เพื่อการผลิตควบคุมคุณภาพและจัดส่งเทคนีเซียม-99เอ็ม ยังจะต้องใช้กลุ่มบุคลากรสำหรับนำสารตัวอย่างออกจากเครื่องปฏิกรณ์ฯ  สัปดาห์ละ  4  คน  กลุ่มงานเดินเครื่องปฏิกรณ์ฯ  นอกเวลาราชการอีกสัปดาห์ละ  18  คน

2.     การปฏิบัติงานทั้งหมดกระทำการนอกเวลาราชการเพราะต้องการความรวดเร็ว  และได้ทันต่อความต้องการของแพทย์ผู้ใช้  จึงต้องขอเบิกค่าตอบแทนพิเศษให้แก่ผู้ปฏิบัติงานทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณมากเมื่อเทียบกับการผลิตไอโอดีน-131  ซึ่งไม่ต้องขอค่าตอบแทนพิเศษใด ๆ

3.     ผู้ขอรับบริการเทคนีเซียม-99เอ็ม  จากสำนักงานฯ  ลดลงเป็นจำนวนมากเนื่องจากกการเปิดดำเนินการของบริษัทเอกชน  ซึ่งให้บริการจำหน่ายสารเภสัชภัณฑ์รังสีติดฉลากกับ เทคนิคเซียม-99เอ็ม  พร้อมฉีดให้กับคนไข้ในลักษณะ  Unit  Dose   ซึ่งจะเพิ่มความสะดวกแก่บุคลากรของโรงพยาบาล  เพราะสามารถใช้กับผู้ป่วยได้ทันที  ลดการเสี่ยงของการรับรังสีกับบุคลากรเตรียมยา  อีกทั้งยังเหมาะสมกับโรงพยาบาลที่มีการบริการในช่วงเย็นนอกเวลาราชการเพราะโดยปกติค่าครึ่งชีวิตของเทคนีเซียม-99 เอ็ม (6  ชั่วโมง)  เทคนีเซียม-99 เอ็ม  จากสำนักงานฯ  มีข้อจำกัดทางด้านเทคนิต เพราะสำนักงานฯ เตรียมยาในช่วงเช้ามากเท่านั้น  ไม่สามารถนำมาใช้ในช่วงเย็นได้

4.     โรงพยาบาลมีทางเลือกที่จะใช้เทคนีเซียม-99เอ็ม  ที่  elute ได้จาก Generator ( ซึ่งพป.ไม่ได้ผลิต)  โดยเฉพาะโรงพยาบาสใหญ่ ๆ ในกรุงเทพฯ  ที่ต้องใช้เทคนีเซียม-99เอ็ม  ในปริมาณมากและโรงพยาบาลต่างจังหวัด

5.     กองผลิตไอโซโทปมีการทดลองวิจัยการผลิตสารไอโซโทปตั้งต้นชนิดอื่นเพื่อเติม  จำเป็นต้องใช้เนื้อที่ในการอาบรังสีในท่อเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู  เช่น  Samarium-153  เพื่อผลิต Samarium-153 EDTMP และ  Samarium-153 HA  อีกทั้งกองผลิตไอโซโทปยังต้องการเพิ่มยอดไอโอดีน-131  เพื่อผลิตไอโอดีน-131  ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้และเพื่อผลิตสารประกอบติดฉลากไอโอดีน-131 เอ็มไอบีจี  ในขนาดที่ความแรงใช้รักษาผู้ป่วยได้ซึ่งต้องใช้ไอโอดีน-131ในปริมาณที่สูง  จากเหตุผลดังกล่าวทั้งหมดเมื่อสำนักงาน ก.พ.  ได้แจ้งกระทรวงต่าง ๆ  ให้ทบทวนบาทภารกิจหน้าที่เพื่อเปลี่ยนแปลงปรับลดภารกิจตามนโยบายของรัฐบาลแล้วสำนักงานฯ  จึงเห็นสมควรให้ปรับลดบทบาทการผลิตเทคนีเซียม-99เอ็ม  และเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการผลิตไอโอดีน-131  สารไอโซโทปอื่นๆ  ที่เพิ่มมากขึ้นกองผลิตไอโซโทปจึงได้ยุติบทบาทการให้บริการ Tc-99m  ตั้งแต่วันที่  28  เมษายน  2540  เป็นต้นมา

 

นอกจากไอโอดีน-131  และเทคนีเซียม-99เอ็ม  แล้ว    กองผลิตไอโซโทปก็ยังผลิตสารเภสัชภัณฑ์รังสีชนิดอื่นอีกหลายกลุ่มซึ่งพอที่จะรวบรวมได้ตามปี  พ.ศ.  ที่สารนั้นให้บริการดังนี้

2515       -  ผลิต lodide-131 Hippuran  เพื่อใช้ตรวจวินิจฉัยไต    (Tubular  Excretion rate)

                                 -  ผลิต lodide-131  Rose Bengal  เพื่อใช้ตรวจวินิจฉัยตับ

                2525        -  ผลิต Sulfur  colloid kit  เพื่อใช้ตรวจวินิจฉัยตับ

 - ผลิต  MDP kit  เพื่อใช้ตรวจวินิจฉัยกระดูก               

                2526       -  ผลิต DTPA kit เพื่อใช้ตรวจวินิจฉัยไตบริเวณ glumeruli

                                -  ผลิต Pyrophosphate kit  เพื่อใช้ตรวจวินิจฉัยกระดูกและการขาดเลือดของกล้ามเนื้อหัวใจ

                2527       -  ผลิต lodide-131 Bromthalein  เพื่อใช้ตรวจวินิจฉัยตับ

                                -  ผลิต MAA kit เพื่อใช้ตรวจวินิจฉัยตับ

                                -  ผลิต  Human Serum Albumin kit  เพื่อใช้ตรวจวินิจฉัยการสูบฉีดโลหิตที่เลี้ยงหัวใจ

                2528       -  ผลิต HIDA  kit  เพื่อใช้ตรวจวินิจฉัยตับ (Hepateobiliary sustem)

                                -  ผลิต Glucoheptonate  เพื่อใช้ตรวจวินิจฉัยไตส่วน glomeruli และ renal tubule

                                - เลิกผลิต lodide-131  Rose  Bengal  เพราะมี  kit  อื่นที่ใช้แทนได้

2529       -โครงการจัดตั้งห้องปฏิบัติการทาง Radioimmunoassay โดยร่วมมือกับทบวงการฯ เป็น  ระยะเวลา  5  ปี (พ.ศ.2529 – พ.ศ. 2534)

                2530       - ผลิต Phytate kit  เพื่อใช้ตรวจวินิจฉัยตับ

                2531       - ผลิต DISIDA  kit  เพื่อใช้ตรวจวินิจฉัยตับ-น้ำดี

                                - ผลิต DMSA kit เพื่อใช้ตรวจวินิจฉัยไตส่วนเนื้อเยื่อ Parenchyma

                2532       -เริ่มให้บริการน้ำยาตรวจวิเคราะห์ทางเรดิโออิมมูโนเอสเสย์ในกลุ่มไทรอยด์ฮอร์โมน  (T3,T4, TSH)

                2533       - ผลิต IODIDA  kit  เพื่อใช้ตรวจวินิจฉัยตับ

                                - ผลิต lodide-131 MIBG เพื่อใช้ตรวจวินิจฉัยต่อมหมวกไต

                2534       - ผลิต DMSA (v) kit เพื่อใช้ถ่ายภาพเนื้องอก (Tumor lmaging)

                2535       - ให้บริการน้ำยาตรวจวิเคราะห์ทางเรดิโออิมมูโนเดสเสย์อีก 2 กลุ่ม Peptide เช่น  Prolactin,  LH,  FSH และกลุ่ม Steroid เช่น Progesterone, Estradiol

2536       -  ผลิต Stannous kit เพื่อใช้ตรวจวินิจฉัยหากมีเลือดออกในกระเพาะอาหารและลำไส้

                                -  ผลิต Bromida kit เพื่อใช้ตรวจวินิจฉัยตับ-น้ำดี

                                -  ผลิต MAG3 kit  เพื่อใช้ตรวจวินิจฉัยไต (การทำงานของ Tubular Excretion Rate)

- ผลิต HMPAO  เพื่อตรวจวินิจฉัยการไหลเวียนของเลือดในสมอง (Brain perfusion study)

หมายเหตุ: HMPAO kit หยุดผลิตในปี 2542 เนื่องจากภาพที่ได้จากการสแกนไม่ชัดเจน

                2537       -  ผลิต MIBI  kit เพื่อตรวจสอบเส้นเลือดที่เลี้ยงหัวใจ (Myocardium Perfusion Study)

                                -  ผลิต EC kit เพื่อใช้ตรวจสอบการทำงานของไต

                                -  ผลิต ECD kit เพื่อใช้ตรวจสอบการไหลเวียนของเลือดในสมอง

- ผลิต Stannous kit เพื่อใช้ตรวจสอบเลือดที่ออกในกระเพาะอาหารและลำไส้ (Gastrointestinal Bleeding)

หมายเหตุ: MIBI kit หยุดผลิตในปี 2540 เนื่องจากไม่สามารถจัดซื้อสารเคมีที่ใช้สังเคราะห์ สารตั้งต้นได้

                2540       -  ผลิต Samarium-153 EDTMP เพื่อรักษาอาการปวดกระดูกจากการแพร่กระจายของมะเร็ง

2541       -  ผลิต Samarium  Hydroxyapatite  เพื่อรักษาอาการปวดอักเสบของข้อในผู้ป่วย  Rheumatoid arthritis

2548          - ผลิต 131Iodine MIBG ชนิดบำบัดรักษา เพื่อใช้รักษาเนื้องอกพวกฟีโอโครมชนิดไม่ร้ายแรง ใช้รักษามะเร็งที่เนื้อเยื่อส่วนกลางของต่อมหมวกไต

 

                ระหว่างปี 2005-2006 โครงการผลิตไอโซโทปรังสีได้รับความร่วมมือด้านวิชาการ Technical Cooperation (TC Project) “Development of radiopharmaceuticals for clinical use” กับทบวงการระหว่างประเทศ (IAEA) และมีโครงการวิจัยสารเภสัชรังสีตัวใหม่  ซึ่งเป็นการนำเอาสารไอโซโทปประกอบเข้ากับ Biomolecule หรือ Monoclonal antibody อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “Target-specific radiopharmaceuticals ซึ่งมีคุณสมบัติดีกว่าสารเภสัชรังสีชนิดเดิมมาก

 

นับตั้งแต่ปี 2507 เป็นเวลามากกว่า 40 ปีกองผลิตไอโซโทปรังสี  ซึ่งเคยสังกัดอยู่ในสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ  ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างในปี 2545 เพื่อเตรียมปรับบทบาทและภารกิจกองผลิตไอโซโทป ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “โครงการผลิตไอโซโทป” สังกัดสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ  และในวันที่ 25 ธันวาคม 2549 ภารกิจของกลุ่มงานปฏิบัติการวิจัยและพัฒนา  กลุ่มงานด้านการให้บริการเทคโนโลยีนิวเคลียร์ได้ถูกแยกออกมาจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ  มาเป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภายใต้ชื่อ “สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน)”  โครงการผลิตไอโซโทปได้ถูกเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและเปลี่ยนชื่อมาเป็น “ศูนย์ไอโซโทปรังสี”